การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

1. ชื่อผลงาน

การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

2. ผู้ออกแบบ/พัฒนา

นางรุซัยนีย์ ดุนี โรงเรียนบ้านเขาน้อย  อำเภอเทพา

3. ความเป็นมา/ความสำคัญ

วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องใช้ และผลผลิตต่างๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงาน

ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านเขาน้อยที่ผ่านมาจะใช้วิธีการสอนแบบบรรยายโดยครูผู้สอนเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทดลองก็จะให้นักเรียนได้ปฏิบัติการทดลองจริงในการทดลองที่มีอุปกรณ์เพียงพอ ในส่วนการทดลองที่อุปกรณ์ไม่เพียงพอครูจะเป็นผู้ทดลองให้นักเรียนดู เนื่องจากโรงเรียนบ้านเขาน้อยเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณมีจำกัด ไม่สามารถจัดหาสื่อการทดลองได้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนไม่สามารถทำการทดลองได้ทุกคน อีกทั้งในการการทดสอบทางการศึกษา O-net  ปีการศึกษา 2562 ของนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาน้อย พบว่าคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ และสาระการเรียนรู้เรื่องสารและสมบัติของสารเป็นสาระที่ต้องพัฒนาเร่งด่วน

ข้าพเจ้าจึงสนใจที่จะแก้ปัญหาและเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียรรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น เกิดแนวทางการสร้างสื่อที่เหมาะสมกับผู้เรียน ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต พัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศชาติต่อไป

4. วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
  • เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังเรียนของนักเรียนที่ใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นปรถมศึกษาปีที่ 4
  • เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  ต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

5. กระบวนการดำเนินงาน/วิธีการนำสื่อไปใช้

มาตรฐานการเรียนรู้ ว 2.1 เข้าใจสมบัติของสาร องค์ประกอบของสสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค หลักและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย และการเกิดปฏิกิริยาเคมี

ตัวชี้วัด 2.1 ป.4/1  เปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพด้านความแข็ง สภาพยืดหยุ่นการนำความร้อน และการนำไฟฟ้า ของวัสดุโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทดลองและระบุการนำสมบัติเรื่องความแข็ง สภาพยืดหยุ่น การนำความร้อน และการนำไฟฟ้า ของวัสดุไปใช้ในชีวิตประจำวันผ่านกระบวนการ ออกแบบชิ้นงาน

ตัวชี้วัด ว 2.1 ป.4/2 แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นโดยการอภิปรายเกี่ยวกับสมบัติทางกายภาพของวัสดุอย่างมีเหตุผลจากการทดลอง

  • จัดทำนวัตกรรมเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์
  • จัดทำนวัตกรรมให้นักเรียนทุกคน
  • ครูดำเนินการจัดการเรียนการสอน
  • ครูนำผลการใช้นวัตกรรมมาวิเคราะห์ข้อมูล          
  • สรุปผลตามวัตถุประสงค์และจัดทำเป็นรูปเล่ม

6. ผลการดำเนินงาน

  • ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุละสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ 81.07/82.00 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
  • ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.63

7. ปัญหา อุปสรรค

ในการใช้นวัตกรรมอาจจะมีนักเรียนขาดเรียนซึ่งจำทำให้การดำเนินการล่าช้าแต่ครูผู้สอนได้ควบคุมและติดตามนักเรียนตลอดการใช้นวัตกรรม

8. ข้อเสนอแนะ/การพัฒนาเพิ่มเติมหรือต่อยอด

  • ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง วัสดุและสมบัติของวัสดุกับนักเรียนในระดับชั้นอื่นๆ
  • ควรมีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นด้วย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน